รู้จักเรา
HISTORICAL BACKGROUND
มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เป็นสถาบันที่เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มุ่งมั่นที่จะเป็นสถาบันอุดมศึกษา แห่งการเรียนรู้ เพื่อปวงชนและเป็นคลังปัญญาของท้องถิ่นเติบโตมาจากโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรม พัฒนามาเป็นโรงเรียนฝึกหัดครู วิทยาลัยครู สถาบันราชภัฏและมหาวิทยาลัยราชภัฏ ตามลำดับ ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏมีโครงสร้างการบริหารจัดการ โดยแบ่งหน่วยงานเป็น 7 คณะ 4 สำนัก
การจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยครูเมื่อก่อนปี พ.ศ. 2527 เป็นการจัดการเรียนการสอนเพื่อผลิตครูเป็นหลัก แต่เมื่อนักศึกษาครูเริ่มลดลงและความต้องการเรียนในสาขาอื่นๆมีมากขึ้น ประกอบกับพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ.2528 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2527 ” มาตรา 5 ให้วิทยาลัยครูเป็นสถาบันการศึกษาและวิจัยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาวิชาการ ในสาขาวิชาต่าง ๆ ตามความต้องการของท้องถิ่นและผลิตครูถึงระดับปริญญาตรี ทำการวิจัยส่งเสริมวิทยฐานะของครูอาจารย์และบุคคลกรทางการศึกษา ทำนุบำรุง ศิลปวัฒนธรรมและให้บริการทางวิชาการแก่สังคม” เมื่อพระราชบัญญัติวิทยาลัยครูแก้ไขโดยเปิดโอกาสให้วิทยาลัยครูเปิดการสอนในสาขาอื่นๆได้ ตามความต้องการของท้องถิ่น และในเวลานั้นมีผู้จบการศึกษาระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั่วประเทศ ที่ประจำอยู่ในหน่วยงานต่างๆเริ่มต้องใช้วุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น วิทยาลัยครูทั่วประเทศที่อยู่ภายใต้กรมการฝึกครู จึงต้องมีการพัฒนาหลักสูตรเพื่อรองรับผู้เรียนเหล่านี้ทั่วประเทศ กรมฯต้องจัดทำหลักสูตรกลางที่ให้วิทยาลัยครูแต่ละแห่งส่งตัวแทนเข้าร่วมร่างหลักสูตร ในตอนนั้นกรมฯ เริ่มร่างหลักสูตรอนุปริญญา สาขาการจัดการทั่วไป และอนุปริญญาสาขาวารสารและการประชาสัมพันธ์ ซึ่งหลักสูตรอนุปริญญากระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจอนุมัติให้เปิดได้ เมื่อมีหลักสูตรกลางวิทยาลัยครูที่พร้อมก็เปิดรับนักศึกษา ซึ่งในตอนแรกวิทยาลัยครูแต่ละแห่งยังไม่ได้ดำเนินการเป็นคณะแต่มีการบริหารเป็นหลักสูตร สำหรับวิทยาลัยครูเพชรบุรี จากจุดเริ่มต้นในการผลักดันจากภาควิชา สู่การเป็น “คณะ” ดังนี้
พ.ศ. 2526 วิทยาลัยครูเพชรบุรี ได้ใช้ศักยภาพของภาควิชาสหกรณ์ สังกัดคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา ในขณะนั้นมีอาจารย์ในภาควิชาสหกรณ์ เพียง 2 ท่านคือ อาจารย์ศักดิ์ชัย สหกุลบุณยรักษ์ และอาจารย์จรัสศรี นวกุลศิรินาถ และอาจารย์สุวิทย์ เปียผ่อง ซึ่งสังกัดคณะวิชาวิทยาศาสตร์ แต่เป็นแกนนำในการจัดตั้งสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนในจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งท่านได้ มาช่วยสอนบางรายวิชาของวิชาเอกสหกรณ์ท่านจึงเป็นอีกผู้หนึ่งที่เป็นแกนนำ และเป็นกำลังสำคัญในการ จัดตั้งคณะวิทยาการจัดการในระยะเริ่มแรกพ.ศ. 2528 เริ่มดำเนินการจัดตั้งเป็นคณะวิชา การบริหารงานดำเนินการเทียบเท่าคณะ มีการแบ่งส่วนงานเป็นภาควิชา 2 ภาควิชา คือภาควิชาบริหารธุรกิจและภาควิชาวารสารและการประชา สัมพันธ์ โดยมีอาจารย์เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารงาน คือ
อาจารย์สุวิทย์ เปียผ่อง รักษาการณ์หัวหน้าคณะ
อาจารย์ผัน สุกช่วง รักษาการณ์หัวหน้าภาควิชาบริหารธุรกิจ
อาจารย์สุดใจ ฉายศรี รักษาการณ์หัว หน้าภาควิชาวารสารและการประชาสัมพันธ์
ขณะเดียวกันมีการเปิดรับนักศึกษาภาคปกติ 3 หลักสูตร คือ หลักสูตรครุศาสตร์ สาขาสหกรณ์ หลักสูตรระดับอนุปริญญา สาขาการจัดการทั่วไป และสาขาวารสารและการประชาสัมพันธ์ เปิดหลักสูตรละ 1 ชั้นเรียน และระดับปริญญาตี 2 ปีหลัง ภาคพิเศษ 2 ชั้นเรียน โดยเปิดดำเนินการเรียนการสอนในวันเสาร์และอาทิตย์ ดังนั้นเพื่อให้การจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาบุคลากรเป็นไปตามหลักวิชา ด้วยภาระงานที่เพิ่มขึ้น มีผู้สนใจเข้าศึกษาเพิ่มขึ้นจึงได้มีการรับโอนอาจารย์จากคณะอื่น ๆ เข้ามาเป็นกำลังเพื่อเตรียมดำเนินการจัดตั้งเป็นคณะในอนาคต
พ.ศ. 2530 คณะวิทยาการจัดการได้รับการจัดตั้งถูกต้องตามกฎหมาย การบริหารจัดการแบ่งภาควิชาเป็น 5 ภาควิชาคือ
1. ภาควิชาบริหารธุรกิจ
2. ภาควิชาการเงินและการบัญชี
3. ภาคเศรษฐศาสตร์
4. ภาควิชาการตลาด
5. ภาควิชาสื่อสารและการประชาสัมพันธ์
พ.ศ. 2535 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระราชทานนาม “ราชภัฏ” และยกฐานะเป็น สถาบันราชภัฏเพชรบุรี ตาม พ.ร.บ.สถาบันราชภัฏ พ.ศ2538 คณะวิทยาการจัดการจึงได้มีการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการโดยเปลี่ยนตำแหน่งของผู้บริหารจาก หัวหน้าคณะ เป็น คณบดี และมีการปรับภาควิชาจาก 5 ภาควิชา เป็น โปรแกรมวิชา 3 โปรแกรมวิชา ได้แก่ โปรแกรมวิชาการจัดการทั่วไป โปรแกรมวิชาบริหารธุรกิจ และโปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์
พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกฐานะจาก สถาบันราชภัฏ เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ สถาบันราชภัฏเพชรบุรี จึงเปลี่ยนเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี” ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 คณะวิทยาการจัดการจึงได้ปรับระบบการบริหารจัดการและโครงสร้างการบริหารอีกครั้งตามระบบการบริหารส่วนราชการของสถาบันอุดมศึกษา และคณะฯดำเนินการ เปิดสอนระดับปริญญาตรี ปิดการสอนระดับอนุปริญญา และได้มีการจัดการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาขึ้นโดยเปิดรับนักศึกษาปริญญาโทรุ่นแรกเข้าศึกษาในหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (บธ.ม.) สาขาวิชาการจัดการทั่วไป
พ.ศ. 2548 คณะได้มีการปรับเปลี่ยนการบริหารและทำการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาตรี ทั้ง 4 ปีและ 2 ปีต่อเนื่อง และเปลี่ยนจากหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต เป็นหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติอุดมศึกษาและการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีการแข่งขันในด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมค่อนข้างสูง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารในครั้งนี้ได้ปรับเปลี่ยนการบริหาร จาก 3 โปรแกรมวิชา เป็น 6 สาขาวิชา 2 หลักสูตร ประกอบด้วย
1. หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต ได้แก่
1.1 สาขาวิชาการจัดการทั่วไป
1.2 สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์
1.3 สาขาวิชาการบัญชี
1.4 สาขาวิชาการตลาด
1.5 สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
2. หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต ได้แก่
2.1 สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์
พ.ศ. 2550 คณะวิทยาการจัดการ ได้รับการอนุมัติงบประมาณก่อสร้างอาคารคณะวิทยาการจัดการหลังใหม่ จากสภามหาวิทยาลัย โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2550 และแล้วเสร็จวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2552 ด้วยงบประมาณ 95,000,000 บาท
พ.ศ. 2552 คณะได้มีการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาตรี 1 หลักสูตรจากหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์ เป็นหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์ และมีโครงสร้างการบริหารส่วนราชการของคณะวิทยาการจัดการเป็น 1 สำนักงานคณบดี
พ.ศ. 2553 คณะได้ดำเนินการย้ายเข้ามาทำการที่อาคาร 18 หลังใหม่ พร้อมทั้งดำเนินการตกแต่ง จัดหาเครื่องมืออุปกรณ์การเรียนการสอนและอุปรณ์อื่นๆ เพื่อใช้ในการเรียนการสอนให้มีความพร้อม ทันสมัยและมีความสมบูรณ์เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสได้ใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคนาโนเทคโนโลยี และขณะเดียวกันคณะฯ ได้ดำเนินการปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรี หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต 2 ปีต่อเนื่องทุกสาขาวิชา
พ.ศ. 2554 คณะมีการดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรให้มีคุณภาพเป็นไปตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (Thai Qualifications Framework for Higher Education : TQF) และให้เป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา โดยมีหลักสูตรและสาขาวิชาของคณะวิทยาการจัดการที่ได้ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาทั้งหมด 3 หลักสูตร คือ
1.หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต มี 4 สาขาวิชา
1.1 สาขาวิชาการจัดการ
1.2 สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์
1.3 สาขาวิชาการตลาด
1.4 สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
2. หลักสูตรบัญชีบัณฑิต
3. หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต
3.1 สาขาวิชานิเทศศาสตร์
พ.ศ. 2555 คณะมีการดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรให้มีคุณภาพเป็นไปตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (Thai Qualifications Framework for Higher Education : TQF) และให้เป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา โดยหลักสูตรปริญญาโท คือหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการทั่วไป ได้ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาเป็น หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารธุรกิจ
พ.ศ. 2557 คณะมีการดำเนินการพัฒนาหลักสูตรใหม่ ระดับปริญญาตรี หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการธุรกิจค้าปลีก และบัณฑิตศึกษา ระดับปริญญาเอก หลักสูตรบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารธุรกิจ
คณะวิทยาการจัดการมีการกำหนดปรัชญาว่า จะผลิตบัณฑิตให้มี “คุณธรรมนำความรู้ สู่การพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน” ขณะนี้คณะยังต้องพัฒนาหลักสูตรใหม่ที่สอดคล้องกับการเป็นประชาคมอาเซีย (ASEAN Community) ในปี พ.ศ.2558 แต่อย่างไรก็ตามคณะวิทยาการจัดการก็ยังคงดำเนินการตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาท้องถิ่น และตามนโยบายของมหาวิทยาลัยคือ “หนึ่งคณะ หนึ่งอำเภอ” ด้วยภาระและหน้าที่ของบุคลากรคณะวิทยาการจัดการที่จะต้องร่วมกันสร้างและพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนตลอดไป